หากคุณเป็นหญิงวัยทอง และมีอาการแสบร้อนที่ปาก แต่แพทย์กลับไม่พบลักษณะผิดปกติ และหาสาเหตุทางร่างกายที่ชัดเจนไม่ได้
ก็เป็นไปได้ว่าคุณอาจจะเป็นโรคปากแสบร้อน หรือ?กลุ่มอาการปากแสบร้อน? (burning mouth syndrome) ซึ่งพบได้ร้อยละ 30 ในหญิงวัยทอง
โรคปากแสบร้อนคืออะไร
หญิงวัยทองหลายรายมีอาการแสบร้อนที่ปาก แต่เมื่อแพทย์ตรวจดูกลับไม่พบลักษณะผิดปกติ และหาสาเหตุทางร่างกายที่ชัดเจนไม่ได้ ลักษณะเช่นนี้คือ ?โรคปากแสบร้อน? ซึ่งนอกจากพบที่ปากแล้วยังอาจพบที่ลิ้น เหงือก ริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม เพดานปาก หรือเป็นทั้งช่องปาก แม้วาจะพบเด่นในหญิงวัยทอง (ทั้งช่วงหมดประจำเดือนและหลังหมดประจำเดือน) แต่ก็อาจพบในผู้ชายได้ ส่วนเด็กๆ หรือผู้มีอายุน้อยมักไม่เป็น และพบโรคนี้น้อยมากในคนอายุน้อยกว่า 30 ปี คือพบประมาณร้อยละ 1 ในกลุ่มคนทั่วไป ขณะที่กลุ่มสตรีวัยทองอาจพบโรคนี้ได้สูงถึงร้อยละ 30 นอกจากนี้โรคปากแสบร้อนยังอาจสัมพันธ์กับความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า ผู้ป่วยโรคนี้จะชอบกัดฟัน ใช้ลิ้นดันฟัน และขบเน้นกราม ส่วนอาการหลัก 3 อย่างของโรคนี้คือ เจ็บปาก รับรสผิดปกติ และรู้สึกปากแห้ง โดยมักเป็นอยู่นานหลายเดือนหรือเป็นปีๆ ในบางรายจะรู้สึกว่าฟันปลอมไม่แนบสนิท แต่เมื่อทันตแพทย์ตรวจดูก็พบว่าแนบสนิทดีแล้ว อาจมีอาการกำเริบหรือมีอาการดีขึ้นเมื่อรับประทานอาหารบางอย่าง มีกลิ่นปาก กลืนอาหารลำบาก มีน้ำลายมากกว่าปกติ รู้สึกว่ามีก้อนในลำคอแต่ตรวจแล้วไม่พบ และมีแผลที่ลิ้น
การวินิจฉัยโรคปากแสบร้อน
เมื่อสงสัยว่าผู้ป่วยอาจเข้าข่ายที่จะเป็นโรคนี้ แพทย์จะสอบถามประวัติ เพราะต้องแยกสาเหตุทางร่างกายออก โดยการถามประวัติการใช้ยา โดยเฉพาะยาที่ทำให้ปากแห้ง การดูแลสุขภาพในช่องปากและฟัน สุขภาพร่างกายทั่วไป โดยเฉพาะโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวาน โรคและสภาพผิวหนังซึ่งอาจมีผลต่อปาก โภชนาการ โดยเฉพาะธาตุเหล็กและวิตามินซึ่งจำเป็นต่อสุขภาพของปาก และสภาวะของระดับฮอร์โมน เพราะกลุ่มอาการนี้มักเริ่มในระยะหมดประจำเดือน
หลังซักประวัติแล้วแพทย์จะตรวจร่างกายอย่างละเอียด รวมถึงการตรวจช่องปากเพราะต้องแยกโรคจากโรคที่มีสาเหตุทางร่างกาย เช่น เชื้อราในช่องปาก และมะเร็งในช่องปาก ตรวจดูลิ้นว่าปกติไหม ตรวจในช่องปากว่ามีแผลหรือไม่ ซึ่งแผลในช่องปากอาจเกิดจากการบาดเจ็บ ตรวจโรคผิวหนังบางอย่าง ไปจนถึงมะเร็งในช่องปาก
โดยในการตรวจร่างกายอาจมีข้อชี้แนะที่ช่วยยืนยันว่าเป็นโรคนี้เช่น ฟันสึกกร่อน ขอบลิ้นเป็นลอน ซึ่งเกิดจากลิ้นดันฟัน ฟันยื่น หรือการสบฟันผิดปกติ มีอาการกดเจ็บของกล้ามเนื้อบริเวณกรามและคอ จากการมีกรามขบแน่น มีน้ำลายเป็นฟองฟอดที่พื้นปากที่แม้กลืนก็ไม่หายไปหมด พบว่าที่บริเวณที่มีอาการคือที่ลิ้น เพดานแข็ง และด้านในของริมฝีปากล่างใกล้บริเวณฟันตัดโดยอาจพบว่าแดงเล็กน้อย
รวมถึงอาจส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อทำการแยกจากการมีปากแสบร้อนจากโรคอื่น เช่น ตรวจว่าเป็นโรคขาดอาหารหรือไม่ หาระดับฮอร์โมน หาความผิดปกติทางด้านภูมิแพ้ตนเอง ทดสอบภูมิแพ้ต่อวัสดุที่ใช้ทำฟัน อาหาร หรือสารบางอย่าง ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อตรวจหาโรคเบาหวาน ตรวจหาโรคของต่อมไทรอยด์ และขูดเยื่อบุช่องปากส่งตรวจเชื้อยีสต์ ซึ่งถ้าตรวจพบสาเหตุแพทย์ก็จะได้รักษาตามสาเหตุนั้นๆ
รักษาหายไหม
ผู้ป่วยโรคนี้จำนวนน้อย (ราวร้อยละ 3) อาการจะหายไปได้เอง เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีการรักษาเฉพาะเพื่อให้โรคนี้หายขาดได้ ส่วนการรักษาที่เคยมีรายงานคือการใช้ยารับประทาน พฤติกรรมบำบัด ที่รวมถึงการผ่อนคลายและการออกกำลังกาย การทำกายภาพบำบัด ที่รวมถึงการนวด การฝังเข็ม และเลเซอร์ โดยแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปหรือทันตแพทย์มักพบผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บปากนี้เป็นด่านแรก เนื่องจากโรคนี้ต้องแยกออกจากโรคหลายอย่าง จึงอาจมีการส่งต่อไปยังแพทย์เฉพาะสาขา เช่น แพทย์ผิวหนัง ทันตแพทย์ จิตแพทย์ อายุรแพทย์ แพทย์วัยทอง หรือแพทย์หูคอจมูก
นอกจากนี้ยังพบว่าการจิบน้ำบ่อย ๆ การดูดอมก้อนน้ำแข็ง การเคี้ยวหมากฝรั่งที่ไม่ผสมน้ำตาล (sugarless gum) จะช่วยลดอาการของโรคนี้ลงได้ และยังพบว่าการหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด รสเผ็ด หรือใส่เครื่องเทศเยอะๆ หลีกเลี่ยงน้ำยาอมบ้วนปากที่มีแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มเปรี้ยวจัด เช่น น้ำส้ม น้ำมะนาว และงดสูบบุหรี่ งดดื่มแอลกอฮอล์ ก็ช่วยบรรเทาอาการแสบร้อนในช่องปากใน ผู้ป่วยบางรายลงได้
การจิบน้ำบ่อย ๆ การดูดอมก้อนน้ำแข็ง การเคี้ยวหมากฝรั่งที่ไม่ผสมน้ำตาลจะช่วยลดอาการของโรคปากแสบร้อนลงได้
เครดิต: healthtoday.net